คุยกับพาย ภาริอร สาวสุดตรอง เจ้าของมุมมองความคิดที่ดีต่อใจ ในวันที่แม่ป่วย

พาย – ภาริอร สาวสุดตรอง เจ้าของมุมมองความคิดที่ดีต่อใจ ในวันที่แม่ป่วย

ถ้าอยู่ดีๆ จากที่คุณเคยรับบทผู้ถูกดูแล กลับต้องมาสลับบทบาทกะทันหันเป็นผู้ดูแลบ้าง คุณจะรู้สึกอย่างไร จะรู้สึกเหมือนเธอคนนี้มากน้อยแค่ไหน เราไปทำความรู้จักกับ พาย – ภาริอร วัชรศิริ สาวแกร่งวัย 28 ปีที่พกรอยยิ้มสดใสเป็นเครื่องประดับติดตัวอยู่เสมอ เธอคนนี้เป็นที่รู้จักจากหนังสือ HOW I LOVE MY MOTHER หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตการดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกตั้งแต่เธออายุ 16 ปี จนเธอต้องสลับบทบาทจากผู้ที่ถูกแม่ดูแล มาเป็นผู้ดูแลแม่ไปโดยปริยาย และหนังสือเล่มนี้ยังส่งต่อแง่คิดดีๆ ในวันที่แม่ป่วยผ่านมุมมองที่สดใส ส่งต่อพลังใจให้คนอีกมากมายนับไม่ถ้วน

 

ปัจจุบันเธอเป็น Director of Content ของเว็บไซต์เกี่ยวกับการแต่งงาน เขียนพ็อกเก็ตบุ๊กเป็นงานอดิเรกอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังเสริมคนล่าสุดของ Wall of sharing

 

 

เริ่มรู้ตัวว่าหลงรักการเขียนตอนไหน

 

จริงๆ พายชอบการเขียนมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ จำได้ว่าตอนนั้นพายเข้าโครงการผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านภาษาไทย ซึ่งในโครงการก็จะได้ฝึกเขียนเยอะเป็นพิเศษ เลยเหมือนได้ทักษะตรงนั้นมา แล้วพออยู่มหาวิทยาลัย พายก็เรียนที่ภาควารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยค่ะ ซึ่งตลอด 4 ปีนั้นก็ช่วยเพิ่มทักษะวิธีคิดและวิธีเขียนของพายได้ดีมากๆ

 

สำหรับพาย การชอบเขียนมันเริ่มมาจากการชอบอ่านด้วย พออ่านเยอะๆ เราก็จะมีคลังวิธีคิด วิธีผูกเรื่อง วิธีการเล่า วิธีอธิบายหลายๆ แบบให้เราเลือกว่าเราเหมาะกับแบบไหน แบบไหนสื่อความ ถ่ายทอดอารมณ์เราได้ดี

 

สุดท้ายพอมาบวกกับประสบการณ์ของตัวเองที่ดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกมานาน ก็เลยได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเริ่มจากการใช้เฟซบุ๊กเป็นกึ่งๆ ไดอารี่ก่อน จนกระทั่งมีพี่ที่รู้จักกัน (เบลล์ – จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บ.ก. นิตยสาร a day) แนะนำว่าน่าจะเอาไปเขียนเป็นหนังสือได้ มันน่าจะเป็นหนังสือที่ดีแล้วก็มีประโยชน์กับคนอื่นๆ ซึ่งพอได้มาลองเขียนจริงๆ ก็พบว่ามันดีไม่น้อย คือดีทั้งกับคนที่อาจจะเจอเรื่องราวคล้ายๆ เรา หรือแม้ว่าอาจจะไม่ได้มีพ่อแม่ที่เจ็บป่วย แต่ก็น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นมากขึ้นได้อีก

 

สุดท้ายนอกจากออกพ็อกเก็ตบุ๊ก พายก็ได้มีโอกาสไปขึ้นทอล์กในเวที TEDx Bangkok 2017 ด้วยค่ะ ประสบการณ์วันนั้นมันพิเศษแล้วก็น่าจดจำมาก พอเราได้เล่าเรื่องของเราออกไป ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ความคิดหรือการกระทำของคนที่เขาได้รับฟัง พายเลยได้คำตอบกับตัวเองวันนั้น ว่าพายน่าจะชอบ ‘การเล่าเรื่อง’ เข้าแล้วจริงๆ ซึ่งการเขียนก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นเอง

 

 

มองการเขียนดีกับตัวเองอย่างไร

 

ตอนเด็กๆ เราอาจจะเคยได้ยินว่าเวลาคิดอะไรวนๆ อยู่ในหัว การเขียนจะทำให้เราเคลียร์กับตัวเองมากขึ้น ซึ่งในแง่ประสบการณ์ พายคิดว่าการเขียนทำให้พายตกตะกอนทางความคิดมากขึ้นจริงๆ

 

สมมติว่าตอนที่ไปเจอกับประสบการณ์ครั้งนั้น พายอาจจะรู้สึกกับมันแบบ A  แต่พอพายได้เขียนมันออกมาพายจะมองเห็น A.1 A.2 A.3 จากการเขียนนั้น เหมือนเราได้ค่อยๆ ตกผลึก เรียงลำดับถึงเหตุและผล เห็นความเชื่อมโยงของมัน เลยทำรู้สึกว่ามันทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ มองเห็นความผิดพลาด ได้เรียนรู้ประสบการณ์ของตัวเองมากขึ้นผ่านการเขียนด้วยค่ะ

 

 

การมองโลกในแง่ดี ต้องใช้ความพยายามไหม

 

มันมีเส้นบางๆ นิดนึงเหมือนกัน พายเองเคยถูกถามว่า ที่พายเป็นอยู่ตอนนี้เรียกโลกสวยหรือเปล่า แต่พายรู้สึกว่าโลกสวย มันจะเป็นการมองโลกในแง่ดีโดยไม่คำนึงถึงความจริงเลย คืออยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ดีๆ นี่เอง แต่การมองโลกในแง่ดีที่มีประสิทธิภาพคือ มองบนความเป็นจริงด้วย

 

ดังนั้น พายคิดว่าไม่ควรต้องใช้ความพยายามเพื่อที่จะมองโลกในแง่ดีมากจนเกินไปนัก แต่พายกลับมองว่ามันคือการฝึกฝน เป็นเหมือนทักษะหนึ่ง เหมือนกับเวลาที่เราเจอชุดเหตุการณ์นึงแล้วเราคิดว่ามีความเป็นไปได้ในการมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง คนปกติอาจจะมองได้ในแง่เดียวคือมองตามจริง แต่ถ้าเราสามารถมองเห็นมิติต่างๆ ของมันได้ หรือเราฝึกฝนบ่อยๆ วันหนึ่งมันจะกลายเป็นนิสัยในการเห็นหลายมุมของเหตุการณ์นั้นด้วยตัวเอง

 

ของพายเอง เนื่องจากพายต้องดูแลคุณแม่ที่ป่วย ด้วยสถานการณ์ชีวิตมันเลยเหมือนสอนเราไปในตัวว่าถ้าอยากจะเอาตัวรอดจากความหดหู่ ความท้อแท้ อาการจิตตกเหล่านั้น เราต้องดึงตัวเองกลับมา ไม่อย่างนั้นถ้าพลิกวิธีคิดไม่ได้ก็คงจะจมดิ่งไปเลย เพราะตอนนั้นพายยังเด็กมากเหมือนกัน ซึ่งมันก็ท้าทายไม่น้อย เพราะการที่เรารู้ว่าแม่เราจะไม่มีทางลุกขึ้นมาทำอะไรๆ ได้เหมือนก่อน ดูแลเราไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หาเงินไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ ณ วินาทีนั้นคือถ้าไม่เปลี่ยนความคิด วิธีการมองโลกของตัวเอง เราก็จะไม่สามารถให้กำลังใจใครได้เลย ไม่ว่าจะกับตัวเองหรือกับแม่ก็ตาม มันเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่เหมือนค่อยๆ ฝึกฝนเราไปในตัว

 

ถ้าความทุกข์มีแบบบ่นแล้วหาย กับ บ่นแล้วไม่หายต้องมีคนร่วมแบ่งปัน คิดว่าเส้นแบ่งคืออะไร

 

พายคิดว่าเรื่องนี้มีความตอบยาก ตรงที่มาตรฐานความรับได้ต่อใจแต่ละคนกับแต่ละเรื่องมันไม่เท่ากัน สมมติพายเป็นคนที่ผ่านการเลิกกับแฟนมาสักพักใหญ่ แบบนานมากๆ แล้ว แล้วมาเจอคนที่เพิ่งเลิกกับแฟนหมาดๆ ก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอก ยังไงก็ผ่านมันไปได้ เพราะผ่านมันมาแล้ว แต่กับคนที่เพิ่งเจอเป็นครั้งแรก เขาไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะเขาไม่เคยเจอประสบการณ์แบบนั้น  เพราะฉะนั้นมาตรฐานนี้มันก็เลยไม่เท่ากัน

 

พายคิดว่า เรื่องบ่นได้ มันเป็นเรื่องแบบจิปาถะในชีวิตประจำวันทั่วไปที่ไม่ต้องเลือกคนฟังมาก แต่เรื่องลึกๆ เรื่องส่วนตัวที่ไม่ใช่จะพูดให้ใครฟังก็ได้ อันนี้มันต้องมีคนฟัง และต้องเล่าให้ใครบางคนที่เราเลือกแล้วเท่านั้น

 

ประเด็นก็คือคนเราก็จะมีหลายๆ แบบ เราจะเลือกเล่าให้คนที่เรารู้ว่าเขาจะตอบกลับมาในแบบที่จะช่วยเยียวยาเราได้ คงไม่มีใครหรอกที่ไปปรึกษาคนที่รู้อยู่แล้วว่าอย่างไรก็จะด่าให้ร้องห่มร้องไห้มากกว่าเดิม

 

พายก็มีคนแบบนั้นอยู่เหมือนกัน คนที่เราเลือกแล้ว อย่างตอนพายเขียนหนังสือเล่ม 3 พายเขียนถึงเพื่อนคนหนึ่งว่าเขาเป็นเหมือน Horcrux ในหนังสือ Harry Potter เขาเป็นเหมือนเศษเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของพาย คือในเรื่อง Lord Voldemort แบ่งวิญญาณของเขาไว้กับ  Horcrux พายก็ทำแบบนั้นเหมือนกันกับเพื่อนบางคน พายรู้สึกว่ามันอบอุ่นใจดีนะที่มีคนที่เราได้ฝากส่วนหนึ่งของชีวิตไว้ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข รู้สึกว่าเรามีที่พึ่งทางใจ มันไม่เจ็บปวด มันไม่โดดเดี่ยวมาก

 

แล้วคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการรับฟังไหม

 

พายคิดว่าพยายามจะเป็นอยู่ แต่ยังไม่เป็น คือพายรู้สึกว่าช่วงประมาณสัก 3 ปีที่แล้ว มันมีคนจุดประเด็นว่าเราจะต้องฟังด้วยใจมากขึ้น เป็นการฟังแบบ Deep Listening ไม่เน้นตัดสินด้วยเหตุผล ไม่ต้องไปวิเคราะห์วิจารณ์อะไร แต่ฟังด้วยความรู้สึกจริงๆ ว่าเขารู้สึกอย่างไร แล้วซึมซับ เข้าใจในความรู้สึกนั้น ซึ่งหัวข้อพวกนี้พายคิดว่ามันถูกจุดขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ว่าด้วยนิสัยของคนปกติทั่วไปมันยากที่จะฟังโดยไม่ตอบกลับ หรือแสดงความคิดเห็นอะไรกลับไปเลย

 

เหมือนเวลาเพื่อนมาปรึกษา เราว่าการฟังเฉยๆ โดยที่ไม่ได้ให้คำแนะนำ ไม่ได้วิจารณ์อะไรมันเลยมันก็ฝืนๆ ธรรมชาติ ยากอยู่เหมือนกันอยู่นะ (หัวเราะ) เป็นอีกเรื่องที่พายคิดว่าต้องฝึกฝน ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้เลยในทันทีทันได้ แต่ถ้าทำได้แล้วก็น่าจะดีมากๆ เหมือนกัน

 

นี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ตอน  Wall of Sharing (โครงการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ) ติดต่อมา เรารู้สึกว่าดีจังเลยนะ ถ้าเกิดน้องๆ นักศึกษาหรือใครก็ตาม เขาจะได้พูดกับคนที่ฟังเขาจริงๆ แล้วก็รู้วิธีที่จะฟังจริงๆ โดยไม่ไปตัดสินเขาจากประสบการณ์ความเห็นตัวเอง

 

ถือว่าเป็นจุดที่ทำให้อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Wall of Sharing ไหมหรือมีจุดไหนอีก

 

พายรู้สึกว่าตัวเองผ่านช่วงชีวิตที่ยากมาเยอะ คือพายดูแลแม่คนเดียวมา 11 ปี ตั้งแต่พายอายุ 16 สำหรับพายมันก็เป็นช่วงเวลาที่จับจิตจับใจนะ เพราะว่าตอนนั้นพายยังเด็ก และพายก็รู้ตัวดีเลยว่าพายไม่ได้ผ่าน 11 ปีนั้นมาได้ด้วยตัวคนเดียว

 

พายโชคดีที่มีญาติ มีเพื่อน มีแฟน (แม้ว่าตอนนี้จะเป็นอดีตแฟนไปแล้ว) ที่น่ารัก แล้วเขาก็รับฟัง ช่วยชุบชูใจมาก พายถึงขนาดเคยคิดด้วยซ้ำว่า ถ้าพายต้องรับเรื่องทั้งหมดนี้โดยไม่มีคนรอบๆ ตัว มันจะผ่านมาด้วยความยากลำบากกว่านั้นหรือเปล่า หรืออาจจะผ่านมาไม่ได้เลย

 

พายเลยรู้สึกว่าถ้าใครจะได้รับโอกาสที่มีคนคอยฟังเขา ซัพพอร์ทเค้า ไม่ต้องเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักก็ได้ ถ้ามันมีคนแบบนั้นในชีวิต เขาก็อาจจะสามารถผ่านวันคืนร้ายๆ มาได้นะ เพราะการที่เขาได้พูดในสิ่งที่เขาอยากพูดออกไปอย่างจริงใจ แล้วมีคนที่ฟังจริงๆ โอกาสนั้นมันจะช่วยชีวิตเขา ช่วยให้เขาก้าวข้าม เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิตเขาหลังจากนั้น จนอาจไม่เหมือนเดิมไปเลย

 

จริงๆ ชีวิตคนเรามันต้องการจุดเปลี่ยนในชีวิตแค่เล็กๆ เท่านั้นเอง ถ้า ณ วันที่เขาได้พูดมันออกไปคือจุดเปลี่ยนที่ชี้เป็นชี้เป็นชี้ตาย จุดเปลี่ยนที่ว่านั้นมันมีคุณค่าสำหรับพายนะ

 

มีคำแนะนำสำหรับคนที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าระบายความทุกข์ของตัวเองออกมาไหม

 

คือพายเป็นคนหนึ่งที่ชอบเล่าเรื่องตัวเอง แล้วจริงๆ คนส่วนใหญ่ก็อาจจะมีคำถามว่าการเล่าเรื่องตัวเองมันดีอย่างไร สำหรับพาย แค่ได้เล่ามันก็เบาลงเยอะแล้วค่ะ อย่างความสุขเวลายิ่งเล่ามันยิ่งทวี ความเศร้าเล่าแล้วมันก็ค่อยๆ เบาบางลงเช่นกัน

 

และพายค้นพบว่า สุดท้ายทุกๆ เรื่องที่เราเจอ เรามักไม่ใช่คนแรกที่เจอมัน แล้วเราก็ไม่ใช่คนสุดท้ายที่เจอมันเช่นกัน เพราะฉะนั้นการที่เราเล่าออกไปอาจทำให้เราเจอคนที่ยิ่งคุยยิ่งเข้าอกเข้าใจกัน ผ่านเรื่องคล้ายๆกันมา เขาอาจจะแชร์ประสบการณ์ว่าเขาผ่านมาได้ด้วยหนทางนี้ แล้วเราก็อาจจะผ่านไปได้ด้วยหนทางนั้นหรืออาจจะเป็นทางอื่นๆ ก็ได้

 

เราอาจจะไม่ต้องไปถึงขั้นคุยจนได้วิธีแก้ปัญหา พายว่าแค่เราเจอคนที่ผ่านเรื่องราวมาเหมือนกันกับเรา เราก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้นแล้ว รู้สึกว่าชีวิตมันไม่ได้โดดเดี่ยว เหมือนเร็วๆ นี้ เมื่อตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา คุณแม่พายเสีย มันเป็นอีกช่วงนึงของชีวิตที่พายรู้สึกว่ายากมากๆ คือตอนดูแลแม่ว่ายากแล้ว แต่การอยู่ให้ได้โดยไม่มีแม่มันยากไปอีกแบบ

 

ทีนี้พายได้มีโอกาสไปคุยกับพี่คนหนึ่งที่เขาเป็น Speaker TED Talk ปีก่อนๆ ซึ่งเขาก็คุยเรื่องคุณพ่อเขาที่เสียชีวิตไปเหมือนกัน บอกว่าจนถึงตอนนี้สำหรับเขามันยังทำใจยากอยู่เลย แล้วเขาก็พูดขึ้นมาประโยคหนึ่งกับพายว่า “เออ จริงๆ เราแทบไม่เคยคุยกันมาก่อนเลยนะ… แต่ตลกดีที่แค่เจอคนที่พบเจอการสูญเสียเหมือนๆ กัน มานั่งด้วยกัน ต่อให้ไม่ต้องพูดอะไรกันมากก็รู้สึกโอเคขึ้นแล้ว” เพราะฉะนั้นจริงๆ แค่ได้พูดออกมา ต่อให้มันเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าไม่มีใครสนใจหรอก งี่เง่าจังเลย เรื่องเล็กน้อยแค่นี้ แต่ว่าถ้าพูดแล้วดีกับตัวเองก็พูดไปเถอะค่ะ ใครจะไปรู้ มันอาจจะไปดีกับคนอื่นด้วยก็ได้นะ

 

ในเร็วๆ นี้มีเรื่องอะไรที่ชุบชูใจคุณพายได้บ้าง

 

เมื่อไม่นานนี้ พายเพิ่งปิดต้นฉบับหนังสือเล่ม 3 ไปค่ะ แต่ก่อนหน้านี้ยังหาท่าจบให้มันไม่ได้ เนื่องจากว่าพายเขียนถึงคนรอบตัว ด้วยคีย์แมสเสจว่าโชคดีจังเลยนะที่เรามีคนเหล่านี้อยู่ในชีวิต แล้วก็เขียนถึง 1 คน : 1 บท สุดท้ายตอนคุณแม่พายเสีย พายเลยคิดขึ้นมาว่า ตัวเองอยากจะบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแม่เป็นตอนจบของเล่มนี้ด้วย ซึ่งทุกๆ คนที่พายพูดถึงในแต่ละบทที่เป็นคนสำคัญของชีวิต เขาก็ได้มารวมตัวกันอยู่ในวันนี้ คือวันงานศพของแม่พาย เพื่อบอกลาแม่เป็นครั้งสุดท้าย มันเป็นวันที่ทุกคนพร้อมใจกันมา มาเพื่อแสดงว่าเขารักพายและรักแม่พายขนาดไหน มันรู้สึกอบอุ่นใจมาก จนสุดท้ายพายตั้งชื่อบทสุดท้ายที่เขียนเกี่ยวกับวันงานศพของแม่ว่า ‘วันแห่งความรัก’ ค่ะ

 

ในฐานะคนเขียนหนังสือเอง พายรู้ตัวว่าตัวเองเป็นแค่นักเขียนคนหนึ่งที่ไม่ได้โด่งดังอะไร ไม่ได้มียอดตีพิมพ์ซ้ำหลายๆ รอบ ไม่เคยขึ้น Best Seller ด้วยซ้ำ แต่พายรู้ว่าตัวหนังสือของพายมันมีประโยชน์กับคนอื่นบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งแค่นั้นมันทำให้พายภูมิใจกับการที่ได้เขียนเล่า ได้ส่งต่อประสบการณ์ออกมาแล้ว ทุกวันนี้เรื่องที่ชุบชูใจมากๆ อีกอย่างของพายคือการได้รับข้อความจากคนอ่าน ผ่านอีเมล์บ้าง ผ่าน Inbox Facebook บ้าง เวลาที่คนอ่านบอกว่าขอบคุณนะที่เขียนหนังสือดีๆ ออกมา ทำให้เขาได้เปลี่ยนความคิดบางอย่าง หรือทำให้เขาได้มีวันคืนที่ดีขึ้น มันทำให้พายรู้สึกดีมากๆ เราไม่มีวันรู้หรอกว่าสิ่งที่เราเล่าออกไปมันอาจจะไม่ได้ช่วยเยียวยาเราแค่คนเดียว แต่มันอาจจะช่วยเยียวยาคนอื่นได้เหมือนกัน

 

เราไม่มีทางรู้ว่าคนอื่นเจออะไรมาก่อนหน้านี้ เติบโตมาแบบไหน มีสิ่งแวดล้อมแบบไหน ดังนั้นเราก็ต่างเยียวยากันและกันผ่านเรื่องที่เราเล่า มีครั้งหนึ่งในงานสัปดาห์หนังสือ มีคนเดินมาให้เซ็นต์หนังสือ แล้วบอกว่าเขาคุยกับแม่เยอะขึ้น เขากลับไปดีกับแม่ เพราะว่าเขาอ่านหนังสือของเรา

 

พายรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่… ไม่รู้ว่ามันยิ่งใหญ่สำหรับคนอ่านไหม แต่มันเป็นสิ่งที่ดีต่อใจพายมากๆ ที่ออกหนังสือเล่มหนึ่งแล้วก็ไม่เคยเห็นหน้าคนอ่าน แต่พายได้ผลตอบรับเหล่านั้น พอมานั่งคิดว่าตัวเองอ่านหนังสือคนอื่นแล้วชอบขนาดที่ทักไปหาคนเขียน ตัวพายยังไม่เคยทำขนาดนั้นเลย แต่การที่พายได้สิ่งเหล่านั้นมาจากคนอ่านมันทำให้พายรู้สึกว่างานเขียนของเราคงส่งผลกับเขาในทางที่ดีไม่ทางใดทางหนึ่ง แล้วสุดท้ายมันก็กลับมาหาพายในทางที่ดีไม่ทางใดทางหนึ่งเช่นกัน

 

——-

 

อ่านจบแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้สึกได้ทันทีว่าจิตใจของผู้หญิงคนนี้แข็งแกร่งมากขนาดไหน แม้ว่าในวันที่ชีวิตจะต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่เธอกลับเลือกที่จะมองหา ‘วิธีคิด’ แบบใหม่ๆ มองหาสิ่ง “ชุบชูใจ” เล็กๆ แต่มีผลดีต่อจิตใจอย่างมหาศาลในแบบของเธอ ทั้งกำลังใจจากคนรอบข้าง การระบายความในใจให้คนที่เป็นส่วนหนึ่งของกันรับฟัง การรู้จักมองแง่ที่สวยงามของปัญหาเพื่อเอาตัวรอดในวันคืนที่มืดมิด ทั้งหมดได้หลอมรวมมาเป็นผู้หญิงสุดสตรองในวันนี้ คนที่เลือกจะส่งต่อพลังใจดีๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมออกไปในวงกว้างให้กับคนที่เธอไม่รู้จักได้รับสิ่งชุบชูใจในวันที่เหนื่อยล้า ให้สามารถเอาตัวรอดและก้าวผ่านคืนวันมาได้แบบเธอ

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะหาผลงานของพายมาอ่าน ตอนนี้เธอออกหนังสือมาแล้ว 3 เล่ม ได้แก่

HOW I LOVE MY MOTHER / HOW I LIVE MY LIFE / HOW LUCKY I AM โดยหมดเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง ที่บอกเล่าถึงความรัก ความสัมพันธ์รอบตัว และอาจจะช่วยเติมเต็มความหมายในชีวิตของคุณและคนรอบข้างได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ

——-

จัดทำบทสัมภาษณ์โดย Ooca: Wall of Sharing (โครงการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์แก่นักศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ) ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดโครงการและการสนับสนุนได้ทาง wallofsharing.com

 

 

-->