คุยเรื่องซึมเศร้าเคล้าเสียงดนตรี  กับ Whal & Dolph

นอกจากเสียงกีต้าร์เคล้าเสียงร้องสุดละมุน บวกกับสไตล์ดนตรีที่สะดุดหูกับมิวสิควิดีโอที่ดูแปลกใหม่จากวงดนตรีทางเลือกที่อัดแน่นไปด้วยพลังสร้างสรรค์ทางดนตรีอย่าง Whal & Dolph แล้ว วันนี้เราชวนมาเปิดมุมมองคูลๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเคล้าเสียงเพลง พร้อมแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวจากอารมณ์และความรู้สึกลึกๆ บนถนนสายนี้กับคนดนตรีรุ่นใหม่อย่าง ปอ กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ (ดอล์ฟ – นักร้อง) และ น้ำวน วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ (วาฬ – กีตาร์)

 

เคยมีประสบการณ์เรื่องสุขภาพจิตเป็นการส่วนตัวไหม

น้ำวน : สำหรับตัวเอง ไม่น่าจะมี เพราะชีวิตค่อนข้างมีความสุขดีครับ

ปอ : เราก็รู้จักคนที่ปัญหาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตบ้าง หลายๆ คนรอบตัวมีประสบการณ์ เรียกว่าเป็นประสบการณ์จากเพื่อนๆ 

 

ในฐานะเพื่อน เรารู้สึกยังไงบ้างเวลาเห็นเขาเป็นแบบนี้

น้ำวน : รู้สึกว่าเป็นห่วงครับ แล้วก็รู้สึกว่าอยากจะให้เขาหายดี บางทีเราก็ช่วยคุยปลอบใจเขา แต่บางทีมันไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด เพราะมันเป็นหลายๆ เรื่องของเขา

ปอ : ตัวเขาก็เคยมาปรึกษาเองด้วยเนี่ย

น้ำวน : ใช่ครับ

 

แล้วเราคิดว่าอะไรทำให้หลายๆคนไม่ไปพบจิตแพทย์

น้ำวน : ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คิดว่าเขาน่าจะกลัว รู้สึกกลัวว่าตัวเองจิตไม่ปกติ แต่ถ้าเป็นยุคนี้เราคิดว่าข้อมูลต่างๆ ในโลกมันมากขึ้น คนรับรู้ว่า “เอ้ย…เป็นอย่างนี้มันไม่ได้น่าอาย” หรือเราไม่ได้เป็นบ้านะ เราแค่เป็นโรคโรคหนึ่งที่มันเกิดขึ้นในสมองเรา แต่ตอนนี้ปัญหาน่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย ที่ค่อนข้างสูง

 

 

ความเครียดของนักดนตรี ที่มีอาชีพเป็นการสร้างความสุขให้กับคนอื่น มันเป็นยังไงเหรอ

 
 
ปอ : จริงๆ เราก็มีความเครียดหลายๆ เรื่อง เช่น เป็นนักดนตรี เป็นศิลปินเวลาออกไปเจอคนเยอะมากๆ เล่นทุกวันติดๆ กันแล้วพอเรากลับมาอยู่คนเดียว เหมือนอารมณ์มันเปลี่ยนมากๆ ยิ่งมีคนรู้จักเรามากขึ้น ยิ่งเราออกไปเจอคนมากขึ้น เราต้องให้ความสุขกับคนมากขึ้นไปอีก พอเรากลับมาแล้วอยู่คนเดียว เหมือนว่าอารมณ์มันเหวี่ยงมากๆ แล้วเราคิดว่าถ้าเราควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดี หรือหาทางออกให้ตัวเองได้ไม่ดีพออย่างนี้ เราอาจจะแบบไปถึงจุดที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ
 
น้ำวน : คือเหมือนเราไม่ได้เหงา ไม่ได้โหยหา แบบว่าต้องมีคนมาแห่แหนตลอดเวลาอะไรนะ แต่พอไปเจอคนเยอะๆ แล้วต้องรับมือกับคนอะไรอย่างนี้ พอกลับมาอยู่คนเดียวมันเหวี่ยงจริงๆ อย่างที่ปอบอก
 
ปอ : บางทีเราไปให้ความสุขกับคนเยอะๆ หรือบางทีเวลาทำงานมันเหนื่อย เงยหน้าปุ๊บ จบเพลง เราต้องลงไปหาแฟนเพลง วันที่เล่นได้ดีก็ดี แต่สมมติถ้าวันนั้นเราเล่นไม่ดี เราเครียด ถ้ายังไม่ได้ปรึกษาหรือแก้ปัญหากันก่อนลงเวที เราก็ต้องข่มเก็บอารมณ์เครียดนั้นไว้ เพื่อไปถ่ายรูปกับแฟนเพลงที่เขาอยากถ่ายกับเรา
 
น้ำวน : ซึ่งเรายินดีนะ
 
ปอ : เรายินดีเลย แต่คือบางทีมันก็อารมณ์มัน…
 
น้ำวน : ปรับไม่ทันครับ
 
ปอ : ใช่ การปรับไม่ทันมันทำให้เกิดสภาวะเครียดได้ครับ

 

แล้วการเป็นนักดนตรี ทำงานกับสาธารณชนอย่างนี้ เวลาเครียดเราจัดการกับตัวเองอย่างไร

ปอ: ก็ออกไปซื้อของ ไปช้อปปิ้ง

น้ำวน : ใช่ๆ

ปอ : ไปกินข้าว ไปเที่ยว ผมว่ามันทำได้หลายวิธี แต่ละคนจะมีมีวิธีที่ไม่เหมือนกันด้วย

น้ำวน : ดูที่สถานการณ์ครับ สมมติว่าผมอยู่บนรถของปอก็จะคุยเล่นกัน เวลาที่ไม่อยากเครียดแล้วอะไรอย่างนี้ ถ้าอยู่บ้านก็หาอะไรทำ เล่นกับหมาแมว ดูหนังก็ว่ากันไป

 

คิดว่าสังคมไทยทุกวันนี้เป็นสังคมแห่งการรับฟังไหม

ปอ : คือเราก็ไม่ใช่ผู้รู้ แต่จากความรู้สึก ผมคิดว่ามันไม่ใช่ทั้งสังคมที่พร้อมจะรับฟัง

น้ำวน : ใช่ ยังไม่ขนาดนั้น คือบางคนเขาสามารถรับฟังคุณได้จริงๆ แต่บางคนคือก็รับฟังได้ไม่ดี

 

 

ต่างกันอย่างไร รับฟัง กับ รับฟังไม่ดี

 

ปอ : ถ้ารับฟังได้ดีก็เหมือนเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการรับฟังที่ดี เราฟังเรื่องเพื่อน แล้วเราอินไปกับเขาด้วย เราพยายามช่วยคิด ช่วยหาทางออก แต่ถ้ารับฟังเฉยๆ ก็ฟังผ่านๆ อีกพักหนึ่งก็ลืม

น้ำวน : หรือแย่่ๆเลย เขาอาจจะเอาเราไปเม้าท์ต่อ ก็จะมีคนประเภทนั้นอยู่

 

 

แล้วอย่างนักศึกษาสมัยนี้ที่เวลาครียด จะมีข่าวเด็กฆ่าตัวตาย คิดว่าอะไรพาเขาไปสู่จุดนั้น

น้ำวน : น่าจะเป็นแรงกดดัน อย่างบางมหาวิทยาลัยอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง เวลาที่บ้านก็ส่งให้มาเรียนมันต้องแบกความหวังไว้พอสมควร หากผลการเรียนออกมาไม่ดีเท่าที่เขาคิด เขาอาจจะไปถึงจุดนั้นได้ อาจมีความเครียดกลัวที่บ้านว่าบ้าง กลัวโดนรีไทร์บ้าง….

ปอ: เราว่ามันมีหลายๆ เรื่อง

น้ำวน : ช่วงชีวิตตอนมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนช่วงใหญ่ๆ ที่ชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงเยอะ อย่างเรื่องความสัมพันธ์ก็มีส่วนเยอะเลย

 


คิดว่าทำไมโครงการ  Wall of Sharing ถึงน่าสนับสนุนบ้าง

 

ปอ : ความคิดแรกเลยคือ โครงการนี้ช่วยคนที่รายได้น้อย อย่างนักศึกษา ให้ไปหาจิตแพทย์ได้สะดวกขึ้น (Wall of Sharing เป็นโครงการที่ให้นักศึกษารับบริการด้านจิตวิทยาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย) บางคนก็กังวล คิดว่าจ่ายเงินไปหาจิตแพทย์ครั้งละเป็นเกือบหมื่น อะไรอย่างนี้

น้ำวน : หรือบางทีเขาอาจจะไม่ได้กล้าบอกที่บ้าน

ปอ : ซึ่งเขาก็ไม่ไหว บางทีพ่อแม่ ครอบครัวเขาอาจจะไม่เข้าใจว่าเป็นโรคอะไร หรือเจ้าตัวก็อาจจะรู้สึกอายตัวเอง หลายๆ อย่างผสมกัน เราเลยคิดว่าโครงการนี้ดีมาก ตรงที่เราสามารถแบบคุยผ่านแอพลิเคชันในมือถือได้เลย

น้ำวน (เสริม) : ข้อดีคือ เราไม่ต้องไปเจอหน้าหมอ เพราะบางคนอาจจะไม่กล้าไปหาหมอถึงขนาดนั้น

ปอ : ใช่ เราก็แค่คุย มันดูเข้าถึงง่ายกว่า ดูไม่ได้น่ากลัวแบบที่ต้องไปที่คลินิกหรือโรงพยาบาล

น้ำวน : เพราะทุกคนก็เล่นมือถืออยู่แล้วไง มันง่ายกว่า

ปอ : แล้วก็ช่วยได้

 

 

ฝากเชิญชวนคนมาสนับสนุน Wall of Sharing

 

ปอ : ก็เชิญชวนทุกคนเลยนะครับ มาสนับสนุนโครงการนี้ครับ มันเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยชาวโลก ทุกวันนี้ยิ่งมี คนเครียดเยอะมากขึ้น มีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ก็อยากให้ช่วยเหลือกัน ส่วนคนที่ยังเรียนอยู่ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ลองใช้ดูครับ

น้ำวน : เหมือนมาร่วมทำบุญกันเนาะ

ปอ : ใช่ๆ เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยครับ

 


 

เรียกว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว เยียวยาปัญหา และดีลกับความรู้สึกตัวเองในแบบฉบับของนักดนตรีที่หลายคนอาจจะนำไปปรับใช้กับตัวเองได้ไม่น้อย และทำให้เรารู้ว่าเบื้องหลังเพลงเพราะๆ ละมุนหู ที่ฟังดูเศร้าและลุ่มลึกอยู่ในทีกับ MV สุดยียวนชวนฉงน ล้วนได้มาจากประสบการณ์ อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ ที่ทำให้เราได้รู้จักทั้งสองคนมากขึ้น รวมทั้งมุมมองสะท้อนสังคมปัจจุบันและโรคซึมเศร้าที่น่าสนใจของสองหนุ่ม อ่านแล้วเราอาจจะฟังเพลงของพวกเขา ชาวปลาวาฬและโลมาได้เพราะขึ้น พร้อมกับเข้าใจตัวเองมากขึ้นก็ได้นะ

 

อ่านและบริจาคให้กับ wall of sharing ได้ทาง https://taejai.com/th/d/wallofsharing/

 

-->