ทำไมบางครั้งเราถึงไม่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวให้คนรู้จักฟัง

เพื่อนสนิทกันคุยได้ทุกเรื่อง เช่นเดียวกับพ่อแม่ก็มักบอกกับลูกว่ามีอะไรก็เล่าให้ฟังได้ ถึงอย่างนั้น ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเล่าปัญหาชีวิตลงบนเว็บบอร์ดสาธารณะ โดยใช้แอคเคานท์เป็นชื่อปลอม

คนที่รักเรา รู้จักเราดี น่าจะเป็นคนให้คำปรึกษาได้ดีที่สุดไม่ใช่เหรอ? แต่ทำไมบางคนถึงไม่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวให้คนรู้จักฟังล่ะ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาชีวิต?

นอกจากความรู้สึกแปลกแยกแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไม่เล่าเรื่องส่วนตัวให้คนรู้จักก็คือ การไม่อยากถูกตัดสิน

“มีสิ่งรบกวนมากมายภายใต้ความสัมพันธ์” Alison Darcy นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าว “สิ่งรบกวนที่ว่าคือความกลัวถูกตัดสิน นั่นเป็นปมในใจของใครหลายคน”

ทางจิตวิทยาได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับการตัดสินผู้อื่นเอาไว้ว่า “คนเราตัดสินคนอื่นจากตัวเองเป็นที่ตั้ง” เขาใช้ค่านิยมของตัวเองที่มีต่อสิ่งนั้นๆ มาประเมินผู้อื่น นั่นทำให้ ยิ่งการกระทำนั้นขัดต่อความเชื่อหรือความคาดหวังที่เรามีต่อคนๆ นั้นเท่าไหร่ เรายิ่งโจมตีเขาแรงขึ้นเท่านั้น

พ่อแม่คาดหวังให้ลูกต้องเรียนเก่ง หรือแฟนที่คาดหวังให้เราหาเงินให้ได้มากกว่าเดิม เช่นเดียวกับความคาดหวังที่มีต่อตนเอง เมื่อทุกอย่างไม่เป็นดังหวัง สถานการณ์จะบีบให้เจ้าตัวอยากหลบเลี่ยงการคุย ต่อให้คนรอบตัวสังเกตเห็นความผิดปกติ และพยายามโน้มน้าวให้พูดออกมาก็ตาม

ซึ่งความเหงาแบบมีคนรอบกาย แต่ไม่เข้าพวกกับใคร (ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Social Isolation หรือความแปลกแยกทางสังคม) นั้นเศร้ายิ่งกว่าการอยู่คนเดียวจริงๆ เสียด้วยซ้ำ การอยู่ในภาวะแปลกแยกนานๆ อาจทำให้เรามีโอกาสเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมถึงเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เส้นเลือดแดงอุดตัน สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ การมีพื้นที่ปลอดภัยที่เราสามารถเล่าเรื่องที่ “เล่ายาก” ออกมาได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ หลายคนจึงเลือกเล่าปัญหาชีวิตตัวเองลงเว็บบอร์ดสาธารณะ เช่นเดียวกับการเข้าไปในกลุ่มปัญหาสุขภาพจิตทางโซเชียลมีเดีย (บางคนใช้อวตารเสียด้วยซ้ำ)

พื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวไม่ได้แปลว่าพวกเขากำลังหลบหนีความจริง แต่มันเป็นเหมือน “โอเอซิส” ที่เยียวยาและชาร์จพลังส่วนตัว ก่อนที่พวกเขาจะกลับมาคุยกับคนอื่นๆ ใหม่ เมื่อจิตใจสดใสกว่าเดิม

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้แปลว่าการมีเพื่อนสนิท หรือญาติพี่น้องรอบตัวไม่สำคัญ แต่ในบางครั้ง คนเราต้องการพื้นที่ส่วนตัวและกำลังใจจากคนแปลกหน้าไม่มีความคาดหวัง หรือมาตรฐานใดๆ มาตัดสิน และถ้าคนๆ นั้นมีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน ก็ยิ่งทำให้เราอุ่นใจได้มากขึ้นว่า เราไม่ได้อยู่บนโลกนี้คนเดียว

 

ถ้าคุณเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยของรัฐมีปัญหาชีวิตที่ยังหาทางออกไม่ได้ และไม่อยากเล่าหรือปรึกษากับคนใกล้ชิดหรือคนสนิทฟัง แต่อยากหาคนที่เป็นกลาง ไม่ต้ดสิน ไว้ใจได้ ก็ขอแนะนำให้ลองคุยกับผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพในการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตได้จาก “กำแพงพักใจ: โครงการ Wall of Sharing” ที่ www.wallofsharing.com

 

-->