ป่าน Vietrio ครูสอนดนตรีคนเก่งกับแง่มุมการสร้างสุขภาพจิตดีๆ ผ่านดนตรีคลาสสิก

ในวันที่ข่าวเศร้าหลายๆ ข่าว เช่น ผลจากความเครียดในวัยรุ่น การฆ่าตัวตายในหมู่นักศึกษา ผ่านหู ผ่านตาหลายๆ คนไป โดยส่วนใหญ่มักได้ข้อสรุปว่าเป็นผลิตผลจากโรควายร้ายที่กำลังยึดพื้นที่และเป็นกระแสในสังคมไทยอย่างมากในช่วงนี้อย่าง “โรคซึมเศร้า” ซึ่งถึงแม้ว่าจะโรคนี้จะไม่ใช่สาเหตุทุกอย่างในผลลัพธ์ร้ายๆ ไม่ใช่นักแสดงโซโล่เดี่ยวของวงการปัญหาสุขภาพจิต แต่ก็ถือเป็นพี่ใหญ่ที่ปลุกกระแสให้หลายๆ คนในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นมากขึ้น รวมถึง ป่าน กัญภัส ชนานุวัฒน์ (ชื่อเดิม อุทัยศรี ศรีณรงค์) หรือที่รู้จักกันในนาม ป่าน Vietrio นักดนตรีและครูสอนดนตรีคลาสสิก น้องสาวคนกลางแห่งครอบครัวนักดนตรีคลาสสิกอย่างบ้านศรีณรงค์ หญิงสาวผู้มาพร้อมเชลโลข้างกาย

 

ใบหน้าสวยคมและรอยยิ้มละมุนตาทุกครั้งที่เรานึกถึง เธอคนนี้ได้ร่วมแสดงจุดยืนเป็นส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุน โครงการกำแพงพักใจ : Wall of sharing โครงการที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างน้อยจำนวน 50,000 คน โดยนักศึกษาสามารถทำนัดออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวกง่ายดาย เราจึงชวนเธอคุยสบายๆ ถึงมุมมองต่อ “การฟัง” ในสังคมไทย และการรับมือกับชีวิตในช่วงวัย 16 – 26 – 36

 

 

ในฐานะนักดนตรี คุณป่านรู้สึกว่าตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการรับฟังไหม?

 

ป่านว่าไม่ค่อยรับฟังเท่าไร เราว่าเป็นสังคมแห่งการพูด แสดงความคิดเห็นกันอย่างเดียว บางทีเรายังไม่ทันฟังอีกฝ่ายพูดจบ เราก็พูดสวนกลับไปแล้ว จากประสบการณ์ส่วนตัว ก็มีบางทีที่เราไม่ได้เป็นผู้ฟังที่ดีพอ โดยทักษะการฟังนั้นจะต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กเลยค่ะ

 

ด้วยความที่ป่านมีโรงเรียนสอนดนตรี ป่านก็จะได้เจอกับเด็กเล็กๆ ตั้งแต่ 3 ปีจนถึง 15 ปี ซึ่งสิ่งที่เห็นจากเด็กส่วนใหญ่ที่มาเรียนที่โรงเรียนคือ น้องๆ น่ารัก แต่ว่าบางทีเขาจะพูดแทรกเรา หรือว่ายังฟังไม่จบแล้วก็ไปคิดต่อเอง ด้วยความที่เราเป็นโรงเรียนดนตรี สิ่งที่เราสอนนอกจากดนตรี ก็คือ การฟัง อันนี้ป่านพูดเรื่องจริง เพราะโรงเรียนดนตรีที่ป่านสอน จะไม่ใด้สอนแค่ให้น้องๆ เล่นโน้ตเป็นเพลงได้ แต่เด็กๆ ต้องรู้จักการรับฟังด้วย

 

เพราะเวลาเราเล่นดนตรี เราไม่ได้เล่นคนเดียว เราเล่นกับเพื่อนๆ เป็นวง ดังนั้นเราต้องฟังด้วยว่าเพื่อนเขาเล่นแนวไหน แล้วเราก็ต้องฟังตัวเอง ถ้าเรามัวแต่ฟังสิ่งที่ตัวเองเล่นโดยที่ไม่ฟังคนอื่น เพลงก็จะล่มเลย ไม่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันได้

 

เพราะฉะนั้น เราเน้นมากเรื่องการรับฟังตัวเองและผู้อื่น ซึ่งป่านมองว่า ดนตรีช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังการรับฟังให้เด็กๆ

 

ดนตรีสอนอะไร เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

 

จากประสบการณ์ที่เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แล้วเราเองก็อยู่ในครอบครัวดนตรี มีคุณพ่อเป็นนักดนตรี ป่านพบว่าดนตรีทำให้เราใจเย็นกันมากๆ เพราะว่ากว่าเราจะเล่นเพลงได้เพลงหนึ่ง เราต้องอดทนเล่นซ้ำๆ อย่างเพลงหนึ่งเราอาจจะเล่นคล่องได้บางช่วง แต่บางช่วงที่ยังไม่คล่องก็ต้องเล่นซ้ำๆ ถ้าเราไม่อดทนทำให้ได้ มันก็ไม่จบเพลง อันนี้คือข้อที่หนึ่งสอนเรื่องความอดทนและมีความมุมานะ

 

ข้อสอง ดนตรีทำให้เราเป็นคนจิตใจอ่อนโยน เพราะว่าอย่างเวลาเราฟังดนตรี สมมุติดนตรีคลาสสิกไม่มีเนื้อร้อง เป็นดนตรีบรรเลง ก็จะเกิดจินตนาการให้จิตใจของเราคล้อยไปตามบทเพลง (ป่านพูดถึงแนวนี้เพราะเราฟังแบบบรรเลงมาตั้งแต่เด็ก แต่ดนตรีประเภทไหนก็ดีหมดทั้งนั้น) ป่านอยากให้เห็นความสำคัญของตรงนี้  เรื่องผลลัพธ์ที่ดนตรีช่วยขัดเกลาจิตใตของเรา

 

ข้อสาม การฝึกดนตรีทำให้เป็นคนตรงต่อเวลา เพราะเวลาที่เรามาซ้อมรวมกับเพื่อนๆ จะต้องมีเวลานัดกัน เช่น เด็กๆ วันนี้ซ้อมหกโมงเย็นนะคะ ทุกคนต้องมาก่อนครึ่งชั่วโมง เพื่อเตรียมเครื่องดนตรี เตรียมโน้ต รับผิดชอบโน้ตและเครื่องดนตรีของเราให้ครบ ถ้าเรามาสาย การซ้อมก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น การเอาใจใส่ต่อส่วนรวมหรือการตรงต่อเวลาจะสอนเราได้

 

ที่เห็นความสำคัญของดนตรีอีกอย่างก็คือ สมาธิ ตอนแรกอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองมีสมาธิหรือเปล่า แต่ป่านเห็นจากนักเรียนที่มาเรียน คือ คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านส่งลูกมาเรียนดนตรี เพื่อน้องจะได้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสัก 5 – 10 นาที ซึ่งพอน้องเขาทำได้ พ่อแม่เขาก็ดีใจแล้ว เพราะฉะนั้นเห็นได้เลยว่าน้องบางคนที่สมาธิไม่ดีตอนเรียนหนังสือ แต่เขาสามารถเล่นดนตรีแล้วได้ในจุดนี้ พ่อแม่เขาก็จะค่อนข้างเห็นความสำคัญและประทับใจ

 

ตรงนี้เห็นผลจริงๆ เพราะเวลาเล่นดนตรีเราต้องจดจ่อกับโน้ตเพลงและต้อมีเรื่องประสาทสัมผัสมาเกี่ยว สมมติเราเล่นเปียโน เราต้องแยกประสาทสัมผัส ต้องกดนิ้วให้ถูก ตาก็ต้องมอง เพราะฉะนั้นเราต้องมีสมาธิอยู่กับสิ่งนั้นๆ และในทางอ้อม ก็จะทำให้เขาเรียนหนังสือได้ดีขึ้นด้วยค่ะ

 

 

ตอนนี้คุณป่านเป็นคุณแม่แล้ว อยากชวนคุยถึงสมัยเป็นวัยรุ่น
ถ้าย้อนไปได้ อยากบอกอะไรกับตัวเองตอนอายุ 16 เอ่ย

 

ตอนนี้ป่านอายุ 36 ย่าง 37 ตอน 16 ทำอะไรอยู่คิดก่อนนะ …อายุ 16 คือ ช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าตอนนั้นจะได้คุยกับตัวเองก็คงคุยว่าอยากให้ มีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่านี้ ซึ่งตอนนั้นเราอยากเรียนดนตรีนี้แหละ แต่ด้วยความที่เพื่อนเราไม่ใช่นักดนตรี เขาก็อยากเข้าอักษรศาสตร์บ้าง นิเทศศาสตร์บ้าง ซึ่งเราก็มีความคล้อยตามว่า เฮ้ย เพื่อนไปที่นี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย

แต่ด้วยความที่โชคดีตรงที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มีโควตาดนตรี เราก็ใช้ดนตรีสอบเข้าเลยติดโควตานักดนตรี พอติดแล้วก็เรียนเลย ไม่ต้องไปลังเลว่าจะเลือกคณะไหนอันดับ 1 2 3 ดี ป่านสอบติดตั้งแต่ก่อนเพื่อนๆ จะสอบเอนทรานซ์กัน ดังนั้น สิ่งที่อยากคุยกับตัวเองคือ อยากเป็นตัวของตัวเองมากกว่านี้ ไม่ตามเพื่อนเลยดีกว่าในตอนนั้น

 

แล้วถ้ากลับไปคุยกับตัวเองตอนอายุ 26 ได้

 

26 เหรอคะ วัยนี้เป็นช่วงที่กลับมาทำงานแล้ว หลังจากเรียนจบที่ฮ่องกง (คุณป่านได้รับทุนจากสมเด็จพระพี่นางฯ ในรัชกาลที่ 9 ให้เข้าเรียนต่อทางด้านดนตรีคลาสสิกที่ Hong Kong Academy for Performing Arts) กลับมาทำงานที่ไทยใหม่ๆ ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างมีความสุข รู้สึกว่าตัวเองได้ทำงานที่ชอบ มีงานเยอะพอสมควรเลย มีทั้งงานออเคสตร้า มีทั้งงานที่ทำแนวป๊อบอย่าง Vietrio ถ้าย้อนไปได้คิดว่าเราควรจะพักผ่อนมากกว่านี้ ด้วยความที่เรามีงานที่น่าตื่นตาตื่นใจ เราไม่ได้เล่นคลาสสิกอย่างเดียวแล้ว เราเริ่มมีงานมอเตอร์โชว์ เราเริ่มเอาดนตรีคลาสสิกไปเล่นแบบป๊อบ เราเริ่มสนุกกับงานอัดเสียงให้ศิลปินต่างๆ จนทำให้เราคิดว่าช่วงนั้นเราควรจะพักผ่อนมากกว่านี้

 

ฝากสำหรับคนที่กำลังกลัวการเข้าสู่วัย 30

 

ป่านว่าช่วงเวลาอายุ 30 เป็นช่วงที่เราน่าจะมีความสุขที่สุดนะ เพราะว่า หนึ่งเราต้องมีงานทำแล้ว พอเรามีงานทำเราก็มีเงินใช้เป็นของตัวเอง เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เราก็จะมีอิสระมากขึ้น อย่างป่านทำงานแล้วมีเงินใช้ พ่อแม่ก็จะไม่ยุ่ง เราจะรู้สึกว่าเราภูมิใจมากเลยว่าเราหาเงินได้ เราจะไปไหนเราจะกลับดึกก็ได้ เรื่องส่วนใหญ่ที่เราสามารถตัดสินใจเองได้จะมาช่วงอายุ 30 ดังนั้นบอกได้เลยว่ามันเป็นช่วงที่สนุกมาก ไม่ได้น่ากลัวเลย มันสนุกเพราะว่าเราเลือกได้เองแล้ว

พอ 30 ป่านคิดว่าพ่อแม่หลายๆ ท่านคงไม่มากำหนดอะไรเรามากมายแล้วค่ะ เพราะเราก็โตแล้ว ก็อยากจะให้มั่นใจแล้วก็ใช้ชีวิตให้สนุก เลียนแบบพี่ตูน (หัวเราะ)

 

คุณป่านรู้จักโครงการกำแพงพักใจได้อย่างไร

 

ป่านรู้จักโครงการนี้จากน้องที่รู้จักกันซึ่งพอได้อ่านรายละเอียดโครงการแล้ว รู้สึกสนใจอยากจะช่วยเหลือไม่มากก็น้อยเท่าที่เราจะทำได้ อย่างการให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐสามารถใช้บริการปรึกษาจิตแพทย์ได้ฟรี ปรึกษาได้ทุกเรื่องผ่านการทำนัดแพทย์ออนไลน์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสมัยที่ป่านเรียนยังไม่มีบริการแบบนี้

 

สำหรับป่าน ป่านมองว่าวัยนี้อยู่ในช่วงวัยที่ประสบการณ์ชีวิตอาจจะยังน้อย เพราะฉะนั้นถ้าเขาได้รับคำปรึกษาจากผู้ใหญ่อย่างจิตแพทย์ที่มีประสบการณ์ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาของเขาไปในทิศทางที่ถูกต้อง แล้วก็มั่นใจได้ว่าคำแนะนำจะไม่อันตราย ซึ่งจุดนี้ป่านมองว่าสำคัญมาก เพราะหากเราไปปรึกษาเพื่อนในวัยเดียวกัน เราอาจจะมีเพื่อนดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ซึ่งถ้าเราไม่รู้ ยึดเพื่อนเป็นหลัก เราก็อาจได้คำแนะนำที่อันตรายกลับมาโดยไม่รู้ตัว

 

โครงการนี้ป่านว่าช่วยแก้ปัญหาสังคมอย่างการผ่อนคลายความเครียด หรือโรคซึมเศร้าได้ ถ้าเรามีปัญหาแล้วมีทางเลือกแบบนี้ให้ปรึกษาจะช่วยได้เยอะ เพราะบางทีเราก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร แล้วเราตัดสินใจไปในทางที่ไม่ถูก ป่านว่าจะดีกว่ามากถ้าเราสามารถขยายโครงการนี้ไปในวงกว้างขึ้น ก็อยากฝากกำลังใจไปถึงผู้จัดทำโครงการ เพราะเข้าใจว่ากว่าจะสร้างขึ้นมาได้น่าจะยากมากๆ เลย ขอบคุณมากๆ นะคะ

 

———–

 

ถือว่าได้แง่คิดดีๆ มากมายจากครูสอนดนตรีคนสวย ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มปลูกฝังลักษณะนิสัยตั้งแต่ยังเด็กจากดนตรี เช่น ความอดทน ความอ่อนโยน สมาธิและการตรงต่อเวลา และการรับฟังปัญหาในวัยรุ่นก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาข้ามผ่านปัญหาในชีวิตมาได้

 

สำหรับผู้ที่สนใจโรงเรียนดนตรีของเธอ โรงเรียนดนตรีวีมุส ตอนนี้มี 3 สาขา ได้แก่ 1. Esplanade รัชดา 2. ทองหล่อ ซอย 9 3. Iconsiam หรือ ติดตามได้ที่ facebook : viemus instagram : @viemus_music_school Line : @viemus

 

——-

 

จัดทำบทสัมภาษณ์โดย Ooca: Wall of Sharing (โครงการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์แก่นักศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ) ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดโครงการและการสนับสนุนได้ทาง wallofsharing.com

-->