เอี่ยว ศิวะภาค เจียรวนาลี Creative Director ของบริษัท day poets ร่วมให้มุมมองดีๆ จากคนในวงการที่ความคิดสร้างสรรค์และความรู้สึกเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน แล้วเขาจะมีแง่มุมต่อปัญหาสุขภาพจิตอย่างไร เคยมีประสบการณ์ตรงของตัวเองหรือคนใกล้ชิดบ้างหรือเปล่า เรามาลองพูดคุยกับคุณเอี่ยวกัน
คุณเคยเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าไหม แล้วก่อนหน้านี้คุณมีความรู้สึกส่วนตัวต่อปัญหาสุขภาพจิตอย่างไร
ผมไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการไหมเพราะว่าไม่เคยได้รับการวินิจฉัย แต่ประสบการณ์ส่วนตัวจริงๆ คือการได้เห็นคนรอบข้างที่ไม่สบายด้วยอาการลักษณะนี้ ความรู้สึกแรกที่เห็นคือเราทำอะไรไม่ได้ มันไม่เหมือนกับเวลาที่เราเจอคนที่ เครียด หรือ หนักใจ แล้วเราไปตบบ่าเขาแล้วบอกว่า “ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ยังมี” แต่สำหรับพวกเขาพรุ่งนี้ไม่มี โลกมันถล่มทลายลง แล้วเราได้แต่มอง เราช่วยเขาไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะช่วยยังไง
ผมรู้สึกว่าสีหน้า ท่าทาง น้ำตาที่ไหลออกมามันไม่ใช่สิ่งที่เราเคยเจอ ไม่ใช่สิ่งที่เรารับมือได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเขา ซึ่งน่าจะเป็นสถานการณ์ของหลายคนในยุคนี้
หลายครั้งเวลาที่สื่อพูดถึงอาการซึมเศร้าหรืออาการทางจิตเวช เรามักจะโฟกัสหรือพูดถึงผู้ป่วย แต่ผมว่าคนที่สำคัญมากๆ อีกคนหนึ่งก็คือ เพื่อน คนรัก หรือเพื่อนร่วมงาน เพราะว่าเขาคือคนแรกที่ได้เห็นและสัมผัสอาการ มันจำเป็นมากที่เขาจะต้องเข้าใจ และรู้วิธีการรับมือ รู้วิธีการหาคนมาช่วยเพื่อนเขา ให้ยอมรับเขาให้ได้ ผมว่าเรื่องนี้มันเป็นประสบการณ์ที่จะว่าไปก็ติดตัวผมไปตลอดชีวิตเหมือนกัน เพราะภาพที่เห็นก็ค่อนข้างติดตา
ส่วนตัวเคยใช้บริการจิตแพทย์มาก่อนไหม
ยังไม่เคยใช้ แต่จริงๆอยากใช้ ประเด็นคือเราไม่รู้ว่าเมื่อไรถึงควรจะใช้ ผมว่าจริงๆนี้คือ Point หลักของคนทั่วไปในยุคนี้ เราไม่รู้ว่าเรามีอาการเมื่อไร ไม่เหมือนไข้หวัดที่เจ็บคอก็รู้แล้วว่าเราเป็นหวัด แต่อาการทางจิตมีเส้นแบ่งที่บางมากระหว่าง เครียด ไม่สบายใจ เป็นโรคซึมเศร้า แล้วก็วิตกกังวล
ถ้าผมมีความรู้สึกอยากจะไปหาจิตแพทย์ มันจะออกแนวอยากพาใครอีกคนที่เราเห็นว่าเขามีความทุกข์ไปด้วยมากกว่า เหมือนไปเป็นเพื่อนเขา เราอยากทำแบบนั้นแต่ยังไม่ได้ทำเพราะคนรอบข้างไม่ได้มีอาการถึงระดับที่ร้ายแรง ยังพอรับมือได้
การที่เราทำงานกับเรื่องเล่า อย่างการเขียน การได้เล่าการได้ระบายออกมามีความสำคัญกับตัวเอง และสำคัญกับสุขภาพจิตอย่างไรบ้าง
จริงๆ แล้วมันช่วยได้ แต่ไม่ได้มีอะไรรองรับเท่าไร คือผมเคยอ่านหนังสือทฤษฎีหลายเรื่องที่บอกว่าการเขียนไดอารี่ช่วยคนได้ หมายถึง การเขียนเพื่อปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ในใจออกมาช่วยบำบัดเรา มันอาจจะไม่ใช่เรื่องเล่าในความหมายของนิยาย แต่มันเป็นสิ่งเร้าที่เกิดจากข้างในตัวเรา
ผมคิดว่าทุกคนมีปีศาจอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ว่าเราพยายามจะกดมันไว้ ไม่ให้มันออกมาเพ่นพ่านข้างนอก คำถามคือเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม ปีศาจก็ถือเป็นเรื่องปกติ บางทีเราควรจะอยู่กับมันได้ ประเด็นหลักก็คือว่า จะอยู่กับมันอย่างไร
ซึ่งผมว่าการเขียนบันทึกกับตัวเองช่วยได้ มันจะเป็นบันทึกที่เราได้ปลดปล่อยปีศาจที่อยู่ในตัวเรา และมนุษย์ทุกคนไม่ได้มีดีหรือร้าย 100% ทุกคนมีทั้งปีศาจและพระเจ้าอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลี้ยงดู และอยู่กับมันอย่างไร
ตอนเป็นนักศึกษา มีประสบการณ์ไหนที่รู้สึกว่า ถ้าสมัยนั้นมีบริการปรึกษาสุขภาพจิตก็คงจะดี
สมัยผมเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ซึ่งมีพื้นที่กว้างมาก แต่ก็มีหลายๆ จุดที่สงบ เช่น เก้าอี้หรือม้านั่งเหมือนเป็นจุดที่นักศึกษาสามารถปลีกวิเวกได้ แล้วเวลาผมเดินผ่าน ก็ไม่ได้เห็นแค่คนนั่งพักเฉยๆ แต่เคยเห็นคนร้องไห้ คนนั่งด้วยท่าทีเหม่อลอย เรารู้เลยว่าไม่น่าใช่การเหม่อลอยแบบสบายใจแน่ๆ ผมรู้สึกว่าถ้ามีบริการที่ช่วยพวกเขาได้ก็น่าจะดี เมื่อก่อนพอไม่มีเลยเป็นการทำได้เพียงเห็นและช่วยแบบที่เราคิดว่าน่าจะช่วยได้ แต่ไม่รู้ว่าได้จริงไหม ผมคิดว่าเรื่องของจิตหรืออาการไม่สบายในลักษณะนี้เริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเรื่องจำเป็นที่เราควรเรียนรู้นะครับ
ทำไมถึงมาสนับสนุนโครงการนี้
ผมรู้จัก OOCA Wall of Sharing ผ่านคนรู้จักต่อๆ กันมา ก็คือได้รู้จักกับคนที่เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้ง ก็รู้สึกว่าดี และอยากช่วย คือผมคิดว่านวัตกรรม หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในโลกวันนี้ ผมมักจะมองง่ายๆ เลยว่า “คนทำ ทำไปทำไมวะ” พอเขาทำแล้ว เกิดผลอะไรบ้าง ช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นอย่างไร
ซึ่งผมคิดว่า โครงการตอบโจทย์เรื่องนี้ มันอาจจะเป็นเพียงโจทย์เล็กๆ หรือเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่ในเชิงการประชาสัมพันธ์ แต่ผมว่าอย่างน้อยถ้ามันได้ทำให้ เด็กคนหนึ่ง หรือ คนคนหนึ่ง รู้สึกดีขึ้น รู้สึกได้ออกจากโลกที่เขาคิดว่ามันไม่มีทางไปต่อได้ ผมคิดว่าโครงการนี้ก็ถือว่ามีคุณค่าและเป็นสิ่งที่เราอยากช่วย
ปัญหาสุขภาพจิตสำคัญและเร่งด่วนขนาดไหน
คือผมเปรียบว่าจิตใจเราเป็นเหมือนอวัยวะของเรา เพียงแต่เป็นอวัยวะที่เรามองไม่เห็น เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเราเช่นเดียวกัน และถ้าเกิดว่ามันเราไม่สบายในส่วนนี้ เราก็ควรจะรักษาให้ดีขึ้น ผมเข้าใจความรู้สึกของคนทั่วไปที่มีต่อสุขภาพจิต ทั้งเมื่อก่อน และในตอนนี้ เมื่อก่อนเราจะคิดว่า คำว่า โรคซึมเศร้า หรือ คำว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นในโรงพยาบาล หรือต้องเกิดในที่ที่มันห่างไกลจากตัวเรามากๆ เรานึกไม่ออกเลยว่าคนที่มีอาการเหล่านี้หน้าตาเป็นอย่างไร เป็นคนแบบไหน รู้สึกอย่างไร
ประสบการณ์ที่ผมคิดว่าทุกคนมีร่วมกัน คงเป็นภาพจิตแพทย์ในหนัง Hollywood เห็นเก้าอี้ยาวๆ มีคนไข้นอนพูด มีหมอนั่งฟัง เรามีภาพจากหนังตรงนั้น แล้วเรานึกไม่ออกว่ามีเรื่องแบบนี้ในประเทศไทย
มันคล้ายการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นที่เกิดขึ้นในบ้านเรานะ คือมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่จริง
สถานการณ์สุขภาพจิตของประเทศไทย ณ ตอนนี้น่าเป็นห่วงมาก ไม่ได้น่าเป็นห่วงในแง่จำนวนของผู้ป่วยในแง่สถิติ แต่เป็นแง่ของความเข้าใจ การรับรู้ของผู้คน ผมคิดว่ายังมีอีกหลายคนที่เข้าใจผิดเรื่องนี้หรือ ปฏิบัติต่อคนที่มีอาการไม่สบายทางจิต ในรูปแบบที่ไม่ควรจะทำ ผมคิดว่าเราต้องการพื้นที่นวัตกรรม หรืออะไรก็ได้ที่สร้างความเข้าใจให้ทุกคน
อยากให้คนรู้จัก OOCA Wall of Sharing มากขึ้นแค่ไหน
ผมคิดว่า การบริจาคเป็นวิธีการช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นในรูปแบบที่ทุกคนทำได้ มันเป็นรูปแบบที่สะดวกใจสะดวกสบายด้วย แล้วก็เป็นเหมือนก้าวแรก สำหรับคนที่สนใจสามารถมีส่วนร่วมได้
ผมคิดว่า OOCA Wall of Sharing กำลังสร้างก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ในวงการสุขภาพจิตของประเทศไทย พยายามสร้างความเข้าใจนี้ให้เกิดขึ้นในวงของคนรุ่นใหม่ หรือในวงสังคมที่เข้าใจเรื่องนี้น้อยอยู่ เป็นเหมือนประตูด่านแรกที่นักศึกษาสักคนจะคิดถึงเมื่อมีปัญหา การเกิดขึ้นของ OOCA Wall of Sharing เป็นประโยชน์ ไม่ได้มาทำร้ายใคร เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือทุกคน แล้วเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งคิดว่าควรจะมีอยู่ต่อไปในสังคม
ถือว่าได้แง่มุมดีๆ ที่น่านำไปขบคิดต่อไม่น้อยเลย ตั้งแต่สัญญาณเตือนว่าเมื่อไรเราควรไปพบจิตแพทย์ เพราะปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้ชัดเจนเหมือนเป็นหวัด แล้วควรจะรับมือกับคนใกล้ที่เข้าข่ายจะเป็นซึมเศร้าอย่างไร รวมถึงการโฟกัสไปที่คนรอบตัวผู้ป่วยให้หาวิธีอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ไปจนถึงการปลดปล่อยและหาทางอยู่ร่วมกับปีศาจในตัวด้วยการเขียนไดอารี่ พร้อมชี้ให้เห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตในยุคนี้ของสังคมเรา
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่กำลังกังวลว่าตนเองจะเข้าข่ายมีปัญหาทางสุขภาพจิตไหม หรือคนรอบข้างจะเป็นหรือเปล่า ลองมองโรคเหล่านี้อย่างปกติมากขึ้น อ่านบทสัมภาษณ์ดีๆ แล้วลองเปิดใจทำความรู้จักอาการเหล่านี้ผ่านเรา : OOCA Wall of Sharing