พัดลมแขวนแล้วไม่ตาย : หลากความพยายามในการช่วยชีวิตคน

พัดลมแขวนแล้วไม่ตาย : หลากความพยายามในการช่วยชีวิตคน

ช่วงเช้าเมื่อวาน ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @tanpedss ได้มีการโพสต์ข้อความแจ้งว่า ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เกิดเหตุมีนักศึกษาโดดตึกฆ่าตัวตายขึ้นในมหาวิทยาลัย  ที่บริเวณหน้าตึกอาคารเรียนรวม 4 โดยมีข้อความระบุว่า

“เมื่อกี้นั่งวินมา ศร.3 ลุงวินบอกว่าเมื่อตอนเช้ามืดมีเด็กโดดตึกศร.4 เป็นนิสิต ญ. ลุงบอกขี่รถผ่านแล้วเห็นกู้ภัย ตร.มาเต็มเลย แล้วเห็นศพคุมผ้าอยู่หน้า ศร.4 ทำไมข่าวแบบนี้มันค่อยๆ มีมาหลาย ม. แล้วนะ จะทยอยเป็นแบบนี้ทีละ ม.ช่วงสอบไม่ได้นะเว้ย สะเทือนใจมาก”

@tanpedss

ทั้งนี้จากเหตุที่เกิดขึ้นนับเป็นรายที่ 5 แล้วที่นักศึกษาได้คิดสั้นกระโดดตึกฆ่าตัวตายในระยะเวลาเพียง 6 วัน นับตั้งแต่นักเรียนที่สอบ GAT PAT โดดตึกเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ก.พ. และเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุนิสิตสาวจุฬาฯ กระโดดตึกคณะ 12 ชั้น ดับในมหาวิทยาลัย  โดยจากการตรวจสอบพบมีบัตรการรักษาของโรงพยาบาล และรับการรักษาอาการโรคซึมเศร้าอยู่ด้วย และในวันเดียวกัน ได้เกิดเหตุนักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เครียดจัดเรื่องการเรียน ปัญหาชีวิต เขียนจดหมายสั่งเสีย ระบายความในใจ อยู่คนเดียว ไม่มีใครแล้ว หากใครพบศพขอให้มอบบริจาคเป็นอาจารย์ใหญ่ ก็ตัดสินใจโดดตึก 8 ชั้น หวังให้ตายแต่กลับพบว่ารอดมาได้หวุดหวิด

อย่างไรก็ดีเมื่อเรื่องราวดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ทำให้มีคนส่งต่อและเข้าไปแสดงความเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าตรวจสอบเป็นการด่วน เพราะเรื่องการคิดสั้นฆ่าตัวตายของนักศึกษาในปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤติแล้ว

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น

เราอาจคุ้นเคยกับปัญหาความเครียดช่วงสอบในเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น แต่รู้หรือไม่ ว่าอินเดียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่การแข่งขันทางการศึกษาสูงอย่างน่าตกใจ

ที่อินเดีย ทุกๆปี นักศึกษาจำนวนมหาศาลจะย้ายจากบ้านเกิดไป “เตรียมตัวสอบ” ที่เมืองโคตา ใช้ชีวิตในโฮสเทลสำหรับอ่านหนังสือสอบตั้งแต่เช้าจรดค่ำ แรงผลักดันหรือตัวประกันของพวกเขาคือโอกาสเรียนต่อในด้านวิศวกรรม ไอที หรือการแพทย์ ซึ่งหมายถึงการขยับชนชั้น และรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในประเทศที่มีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน

สถิติระบุว่า ในปี 2014 ถึง พฤศจิกายน 2017 มีนักศึกษาตัดสินใจฆ่าตัวตายถึง 45 คน เฉพาะในเมืองโคตาเมืองเดียว

พัดลมแขวนแล้วไม่ตาย – ความพยายามใช้นวัตกรรมแก้ปัญหา

เวลาใครซักคนจะฆ่าตัวตายในอินเดีย เกือบครึ่งของคนที่ฆ่าตัวตายจะใช้วิธีแขวนคอกับพัดลม ดังนั้น Sharad Ashani จึงคิดค้น “พัดลมแขวนแล้วไม่ตาย” โดยออกแบบมาให้ส่วนคอของพัดลมเพดานพัดลมยืดลงมาได้หากถูกแขวนหรือดึงโดยวัตถุหนัก 20 กิโลกรัมขึ้นไป แต่น่าเสียดายที่พัดลมของเค้าไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก พัดลมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมป้องกันการฆ่าตัวตาย และคนทั่วโลกต่างก็พยายามหาทางป้องกันและหยิบยื่นทางออกใกล้ตัวแต่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเหล่านี้

วิธีการฆ่าตัวตายและป้องกันในแต่ละประเทศยังต่างกันออกไป ในที่ที่คนเลือกจบชีวิตลงท่ามกลางธรรมชาติ อย่างที่น้ำตกไนแองการ่า หน่วยงานอุทยานแห่งชาติได้ติดตั้งเบอร์ฮอตไลน์รับปรึกษาปัญหาชีวิต หรือที่ป่าโอกิกาฮาระประเทศญี่ปุ่น มีการส่งอาสาสมัครเดินสำรวจป่าเผื่อจะพบโอกาสช่วยเปลี่ยนใจผู้ที่หวังจบชีวิตลงที่นั่น

ฟังดูเป็นความพยายามเล็กๆ ในการช่วยชีวิตคน ท่ามกลางอัตราฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงในแต่ละปี ทว่า มันก็ช่วยได้จริงๆ สายด่วน Distress and Crisis Ontario ซึ่งดูแลอาณาบริเวณรอบน้ำตกไนแองการ่าระบุในปี 2017 ว่า 92% ของคนที่โทรมาเปลี่ยนใจและทำให้ไม่ต้องเกิดการกู้ภัยฉุกเฉิน

ภาพตัดกลับมาที่อินเดีย หลังจากส่วนกลางของเมืองทราบปัญหาฆ่าตัวตายในวัยรุ่น พวกเขาก็พยายามหาวิธีป้องกันในหลายวิถีทาง เช่น ติดตั้งศูนย์ฮอทไลน์ ไปจนถึงติดตั้งเครื่องตรวจวัดลายนิ้วมือในหอพักซึ่งจะส่งข้อความหาพ่อแม่ทุกครั้งที่นักศึกษากลับเข้าห้อง (ทำให้พ่อแม่เป็นห่วงน้อยลงด้วย)

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า พัดลม สายด่วน และประตูสแกนลายนิ้วมือช่วยป้องกันได้ในระยะสั้นเท่านั้นเอง

เรื่องใหญ่ๆ ใช้งบประมาณเล็กๆ

นาดาเลียเป็นหนึ่งในศึกษาที่โคตา เขาเล่าว่านักศึกษาจำนวนมากมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน ความเครียดจากเดิมพันด้านการศึกษาเป็นราคาจ่ายที่มากจนอาจทำให้ผู้ฆ่าตัวตายตัดสินใจยอมจบชีวิตลง แม้การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของวัยรุ่นอินเดียวัย 19-25 ปี แต่น่าเศร้าที่งบประมาณแห่งชาติเพียง 0.06% เท่านั้นที่ถูกใช้เพื่อการดูแลสุขภาพจิตในวัยรุ่น ต่างจากในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะลงทุนเพื่อการพัฒนาดูแลสุขภาพจิตในวัยรุ่นประมาณ 4%

Vikram Patel แห่ง Harvard University’s department of global health and social medicine ระบุว่าประชาชนในอินเดียต้องให้ความสำคัญกับการพูดถึงปัญหานี้อย่างจริงจังในวงกว้าง ไม่ใช่แค่การพูดถึงกิมมิกอย่างพัดลม หรือรายงานข่าวการตายเป็นครั้งๆ ทางออกที่ยั่งยืนควรมาจากการลงทุนของภาครัฐที่ช่วยให้ประชาชนคนหนุ่มสาวเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิต และมาจากการเปลี่ยนวัฒนธรรมให้ความกดดันลดลงต่างหาก จึงจะแก้เหตุของการฆ่าตัวตายได้ในระยะยาว

เมื่อถามว่านาดาเลียจะเอายังไงกับการสอบที่ใกล้จะมาถึง เขายักไหล่และบอกว่า “ถ้าผมสอบไม่ติด มันก็ไม่เป็นไร ชีวิตผมต้องเดินต่อไป” ส่วน Ashani วิศวกรผู้คิดคนพัดลมแขวนแล้วไม่ตายก็ยืนยันที่จะพยายามขายพัดลมของเขาต่อไป พร้อมกล่าวว่า “ภารกิจของผมคือช่วยชีวิตคน”

แม้เทียบอัตราส่วนต่อนักศึกษาทั้งหมดจะมีตัวเลขไม่มาก แต่ 1 ชีวิตก็มีคุณค่า เราสามารถช่วยได้ด้วยการทำความเข้าใจต่อผู้มีภาวะฆ่าตัวตาย ไม่ซ้ำเติม และช่วยกันมองหาหนทางให้นักเรียนนักศึกษาเข้าถึงความช่วยเหลือ

หากคุณเป็นนักศึกษาที่ประสบปัญหา อยากหาใครสักคนรับฟัง หรือเป็นคนที่อยากสนับสนุนให้วัยรุ่นไทยได้รับการดูแลสุขภาพจิตที่ีขึ้น โครงการ ooca : wallofsharing กำลังริเริ่มโปรเจกต์ทดลองที่ให้นักศึกษาได้รับการปรึกษาฟรี และมีช่องทางให้คนธรรมดาร่วมบริจาคสนับสนุนโครงการ สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ wallofsharing.com

ที่มา

https://www.wired.co.uk/article/india-kota-student-suicide-exams-institutes-of-technology

-->